ตัวอย่างการรับฟังข้อมูลอิเล็กทรอสิกส์เป็นพยานหลักฐาน ของศาลไทย คำพิพากษาฎีกา {6757/2560}
ปัจจุบันคดีความที่เกี่ยวข้องกับหลักฐานอิเล็กทรอนิกส์มีจำนวนมาก และคาดว่าจะมีเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากคนทั่วไปสามารถเข้าถึงอุปกรณือิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้ได้อย่างง่ายดาย ่เช่น โทรศัพท์มือถือ เป็นต้น ในขณะที่การกระทำผิดผ่านมือถือเหล่านี้ก็มีจำนวนมาขึ้้นเช่นกัน ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่ซับซอนเหล่านี้ ควรได้รับการตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญหากต้องการหลักฐานนำไปฟ้องร้องกัน
ต่อไปนี้คือคดีที่มีการฟ้องร้องและคดีถึงศาลฎีกาและได้ตัดสินไปแล้ว
- จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์ 595,500 บาท ตกลงชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน จำเลยได้รับเงินที่กู้ยืมครบถ้วนแล้ว หลังจากทำสัญญาจำเลยไม่ชำระต้นเงิน คงชำระดอกเบี้ย 4 ครั้ง รวมเป็นเงิน 6,550 บาท การที่โจทก์ส่งข้อความทางเฟสบุ๊คถึงจำเลยมีใจความว่า เงินทั้งหมด 670,000 บาท ไม่ต้องส่งคืน ยกให้หมด ไม่ต้องส่งดอกอะไรมาให้ จะได้ไม่ต้องมีภาระหนี้สินติดตัว การส่งข้อมูลดังกล่าวเป็นการสนทนาผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ถือว่าเป็นการส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ จึงต้องนำ พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 มาตรา 7 ถึง มาตรา 9 มาใช้บังคับด้วย แม้ข้อความนี้จะไม่มีการลงลายมือชื่อโจทก์ก็ตาม แต่การส่งข้อความทางเฟสบุ๊คจะปรากฏชื่อผู้ส่งด้วยและโจทก์ก็ยอมรับว่าได้ส่งข้อความถึงจำเลยจริง ข้อความการสนทนาดังกล่าวจึงรับฟังได้ว่า เป็นการแสดงเจตนาปลดหนี้ให้แก่จำเลยโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือตาม ป.พ.พ. มาตรา 340 แล้ว หนี้ตามสัญญากู้ยืมย่อมระงับ จำเลยไม่ต้องรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
- โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 731,850 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปี ของต้นเงิน 595,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษากลับว่า ให้จำเลยชำระเงิน 595,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 12 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 26 สิงหาคม 2556 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยให้หักดอกเบี้ย 6,550 บาท ออกจากดอกเบี้ยที่จำเลยต้องชำระแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2556 จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์ 595,000 บาท ตกลงชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน จำเลยได้รับเงินที่กู้ยืมครบถ้วนแล้ว หลังจากทำสัญญาจำเลยไม่ชำระต้นเงิน คงชำระดอกเบี้ย 4 ครั้ง รวมเป็นเงิน 6,550 บาท
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยต้องรับผิดชำระเงินกู้ยืมพร้อมดอกเบี้ยตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ข้อความที่โจทก์ส่งถึงจำเลยทางเฟสบุ๊ค มีใจความว่า เงินทั้งหมด 670,000 บาท ไม่ต้องส่งคืนให้แล้ว ยกให้หมดไม่ต้องส่งดอกอะไรมาให้ จะได้ไม่ต้องมีภาระหนี้สินติดตัว การส่งข้อมูลดังกล่าวเป็นการสนทนาผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ถือว่าเป็นการส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ จึงต้องนำพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 มาใช้บังคับด้วย ตามมาตรา 7 บัญญัติว่า ห้ามมิให้ปฏิเสธความมีผลผูกพันและการบังคับใช้ทางกฎหมายของข้อความใดเพียงเพราะเหตุที่ข้อความนั้นอยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ และมาตรา 8 บัญญัติว่า ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งมาตรา 9 ในกรณีที่กฎหมายกำหนดให้การใดต้องทำเป็นหนังสือ มีหลักฐานเป็นหนังสือ หรือมีเอกสารมาแสดง ถ้าได้มีการจัดทำข้อความขึ้นเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถเข้าถึงและนำกลับมาใช้ได้โดยความหมายไม่เปลี่ยนแปลง ให้ถือว่าข้อความนั้นได้ทำเป็นหนังสือ มีหลักฐานเป็นหนังสือหรือมีเอกสารมาแสดงแล้ว ดังนั้นข้อความดังกล่าวที่โจทก์ส่งถึงจำเลยทางเฟสบุ๊ค แม้จะไม่มีการลงลายมือชื่อโจทก์ก็ตามแต่การส่งข้อความของโจทก์ทางเฟสบุ๊คจะปรากฏชื่อผู้ส่งด้วยและโจทก์ก็ยอมรับว่าได้ส่งข้อความดังกล่าวทางเฟสบุ๊คถึงจำเลยจริง
ข้อความการสนทนาดังกล่าวจึงรับฟังได้ว่าเป็นการแสดงเจตนาปลดหนี้ให้แก่จำเลยโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 340 แล้ว หนี้ตามสัญญากู้ยืมย่อมระงับ ที่โจทก์อ้างว่า โจทก์ไม่มีเจตนาที่จะปลดหนี้ให้จำเลย แต่ทำไปเพราะความเครียดต้องการประชดประชันจำเลยนั้นโจทก์ไม่อาจยกเหตุดังกล่าวขึ้นอ้างเพื่อให้เจตนาที่แสดงออกไปนั้นตกเป็นโมฆะ เพราะไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยได้รู้ถึงเจตนาที่ซ่อนอยู่ภายในของโจทก์ พยานหลักฐานของจำเลยมีน้ำหนักให้รับฟังได้มากกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยได้รับการปลดหนี้จากการกู้ยืมเงินตามสัญญากู้ยืมเงินแล้ว จำเลยไม่ต้องรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษามานั้นไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ
แหล่งที่มา : http://www.supremecourt.or.th/
พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ฎีกาที่ 2148/2562
Read More