พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ฎีกาที่ 2148/2562
ข้อความที่จำเลยทำให้ปรากฏทางอินเทอร์เน็ตโดยการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ในคดีนี้รวม 3 กระทง และคดีหมายเลขแดงที่ 1039/2557 ของศาลจังหวัดสมุทรสาคร รวม 3 กระทง แม้จะมีความแตกต่างกันบ้างก็เป็นเพียงในรายละเอียดและวันที่กระทำความผิด กล่าวคือ คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดในวันที่ 11 มกราคม 2556 วันที่ 23 มกราคม 2556 และวันที่ 24 มกราคม 2556 ส่วนคดีหมายเลขแดงที่ 1039/2557 ของศาลจังหวัดสมุทรสาคร โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดในวันที่ 11 มกราคม 2556 วันที่ 23 มกราคม 2556 และวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2556 ซึ่งการพิจารณาว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรมต่างกัน ย่อมต้องพิจารณาถึงเจตนาในการกระทำความผิดเป็นสำคัญว่ามีเจตนาเดียวกันหรือไม่ประกอบกันด้วย
ทั้งข้อเท็จจริงที่จำเลยได้พิมพ์หรือทำให้ปรากฏตามสำเนาข้อความแสดงความคิดเห็นบนเว็บไซต์เฟซบุ๊ก ซึ่งข้อความคดีนี้และข้อความตามคำฟ้องในคดีหมายเลขแดงที่ 1039/2557 ของศาลจังหวัดสมุทรสาคร ต่อเนื่องกันตลอดมาตั้งแต่วันที่ 11 มกราคม 2556 เวลา 8.17 นาฬิกา ถึงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2556 เวลา 9.07 นาฬิกา บนเว็บไซต์เฟซบุ๊กในหัวข้อเรื่องทำนองเดียวกัน คือ “ทำไมไอ้ P จึงต้องด่าคนขายพระ ลป.บุญศรี” และข้อความทั้งหมดต่างกล่าวถึงโจทก์ร่วมในเรื่องเดียวกัน กล่าวหาว่าโจทก์ร่วมเป็นคนไม่ดี มีพฤติกรรมเสียหาย หลอกลวงหาผลประโยชน์จากวัด รับซื้อของโจร
นอกจากนี้ปรากฏว่า จำเลยได้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1) ซึ่งเป็นข้อหาเดียวกันกับคดีนี้และเวลาเกิดเหตุอยู่ในระยะเวลาคาบเกี่ยวต่อเนื่องกัน การกระทำความผิดของจำเลยในคดีนี้และคดีหมายเลขแดงที่ 1039/2557 ของศาลจังหวัดสมุทรสาคร จึงเป็นกรรมเดียวกัน ดังนั้น เมื่อคดีของศาลจังหวัดสมุทรสาครที่พนักงานอัยการจังหวัดสมุทรสาครเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยในคดีก่อน ศาลจังหวัดสมุทรสาครและศาลอุทธรณ์ภาค 7 มีคำพิพากษาแล้วว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดเพียงกรรมเดียว หาใช่ 3 กรรม ดังที่โจทก์ฟ้อง ถือได้ว่าศาลมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ได้ฟ้องแล้ว สิทธิการนำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ในคดีนี้ย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4)
แม้ในชั้นพิจารณาจำเลยให้การรับสารภาพ แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย จำเลยมีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้และศาลอุทธรณ์ภาค 1 ย่อมมีอำนาจหยิบยกขึ้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ในคดีนี้ได้ โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 3, 14 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 นับโทษจำคุกต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1039/2557 ของศาลจังหวัดสมุทรสาครจำเลยให้การปฏิเสธ แต่เมื่อสืบพยานโจทก์ไปบ้างแล้ว จำเลยกลับให้การรับสารภาพและรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อระหว่างพิจารณา นายสันติ ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษา ว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 รวม 3 กระทง ลงโทษจำคุกกระทงละ 1 ปี รวม 3 กระทง เป็นรวมจำคุก 3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน นับโทษจำคุกจำเลยต่อจากโจทก์จำคุกของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1039/2557 ของศาลจังหวัดสมุทรสาคร
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
- โจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ร่วมว่า ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับฟ้องโจทก์ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1039/2557 ของศาลจังหวัดสมุทรสาคร หรือไม่ โดยโจทก์ร่วมฎีกาทำนองว่า ข้อความในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1039/2557 ของศาลจังหวัดสมุทรสาคร มีความแตกต่างกันโดยจำเลยเสกสรรปั้นแต่งเหตุการณ์นั้นเป็นคนละอย่างกัน กล่าวหาว่าโจทก์ร่วมเป็นคนหลอกลวง หาผลประโยชน์จากวัด เป็นมารศาสนา ขโมยของสงฆ์ รับซื้อของโจร ซึ่งขึ้นอยู่กับเจตนาของจำเลยในแต่ละคราว ทำให้บุคคลใดอ่านข้อความดังกล่าวที่จำเลยนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์หลายครั้งแล้วย่อมเข้าใจว่า โจทก์ร่วมเป็นคนไม่ดี มีพฤติกรรมเสียหาย หลอกลวงหาผลประโยชน์จากวัด การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระ
จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4) นั้น เห็นว่า ข้อความที่จำเลยทำให้ปรากฏทางอินเทอร์เน็ตโดยการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ในคดีนี้รวม 3 กระทง และคดีหมายเลขแดงที่ 1039/2557 ของศาลจังหวัดสมุทรสาคร รวม 3 กระทง แม้จะมีความแตกต่างกันบ้างก็เป็นเพียงรายละเอียด และวันที่กระทำความผิดจะแตกต่างกันบ้างเล็กน้อย กล่าวคือ คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดในวันที่ 11 มกราคม 2556 วันที่ 23 มกราคม 2556 และวันที่ 24 มกราคม 2556 ส่วนคดีหมายเลขแดงที่ 1034/2557 ของศาลจังหวัดสมุทรสาคร โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดในวันที่ 11 มกราคม 2556 วันที่ 23 มกราคม 2556 และวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2556 ซึ่งการจะพิจารณาว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรมต่างกัน ย่อมต้องพิจารณาถึงเจตนาในการกระทำความผิดเป็นสำคัญว่ามีเจตนาเดียวกันหรือไม่ประกอบกันด้วย
ทั้งข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามสำเนาข้อความแสดงความคิดเห็นบนเว็บไซต์เฟซบุ๊ก จำเลยพิมพ์หรือทำให้ปรากฏซึ่งข้อความคดีนี้ และข้อความตามฟ้องในคดีหมายเลขแดงที่ 1039/2557 ของศาลจังหวัดสมุทรสาคร ต่อเนื่องกันตลอดมาตั้งแต่วันที่ 11 มกราคม 2556 เวลา 8.17 นาฬิกา จนถึงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2556 เวลา 9.07 นาฬิกา บนเว็บไซต์เฟซบุ๊กในหัวข้อเรื่องทำนองเดียวกัน คือ หัวข้อ “ทำไม ไอ้ P (ซึ่งหมายถึง โจทก์ร่วม) ทำไมต้องด่าคนขายพระ ลป.บุญศรี” และข้อความทั้งหมดต่างกล่าวถึงโจทก์ร่วมในเรื่องเดียวกัน กล่าวหาว่าโจทก์ร่วมเป็นคนไม่ดี มีพฤติกรรมเสียหาย หลอกลวงหาผลประโยชน์จากวัด รับซื้อของโจร ทำให้ผู้อื่นอ่านข้อความแล้วเข้าใจว่าโจทก์ร่วมมีพฤติกรรมดังกล่าว
นอกจากนี้ปรากฏว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1) ซึ่งเป็นข้อหาเดียวกันกับคดีนี้ และเวลาเกิดเหตุอยู่ในระยะเวลาคาบเกี่ยวต่อเนื่องกัน การกระทำความผิดของจำเลยในคดีนี้และคดีหมายเลขแดงที่ 1039/2557 ของศาลจังหวัดสมุทรสาคร จึงเป็นกรรมเดียวกัน ดังนั้น เมื่อคดีของศาลจังหวัดสมุทรสาครที่พนักงานอัยการจังหวัดสมุทรสาครเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยในคดีก่อน ศาลจังหวัดสมุทรสาครและศาลอุทธรณ์ภาค 7 มีคำพิพากษาแล้วว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดเพียงกรรมเดียว หาใช่เป็นความผิดรวม 3 กรรม ดังที่โจทก์ฟ้อง แม้จะไม่ปรากฏว่าคดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้วหรือไม่ ก็ถือได้ว่าศาลได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ได้ฟ้องแล้ว สิทธิการนำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ในคดีนี้ย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4) แม้ในชั้นพิจารณาจำเลยจะให้การรับสารภาพก็ตาม แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย จำเลยมีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้ และศาลอุทธรณ์ภาค 1 ย่อมมีอำนาจหยิบยกขึ้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ในคดีนี้ได้ คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น
แหล่งที่มา : http://www.supremecourt.or.th/
บริการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลทางคอมพิวเตอร์ประกอบสำนวนคดี
Read More